วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

อันธกาสุร อสูรที่มีกำเนิดจากเหงื่อของพระศิวะ

อันธกาสุรวธามูรติ

กล่าวถึงอันธกาสูร ( ซึ่งเกิดจากเสโทของพระศิวะ และพระองค์ได้มอบให้หิรัณยากษะ ) ได้ขอพรจากพระพรหมว่า ขอให้สิ้นชีพก่อต่อเมื่อบังเกิดความรักต่อสตรีที่เปรียบเสมือนมารดา

เมื่อได้พรแล้วก็ได้ขึ้นเป็นอสูรราชแล้วก่อความเดือดร้อนอีกทั้งยังมีตัณหาใคร่จะได้พระเทวีปารวตีมาเป็นชายาตนจึงส่งนิลา ( อสูรรูปช้าง ) หมายสังหารพระศิวะแต่นนทิเกศวรทราบเรื่อจึงไปบอกแก่มหาวีรภัทร ( ผู้เป็นองค์รุทราวตาร ) มหาวีรภัทรจึงแปลงกายเป็นสิงหราชไปสังหารนิลา แล้วนำหนังช้างมาถวายพระศิวะให้ทรงใช้เป็นอาภรณ์ พระศิวะทรงนำกองทัพเทวดาและกองทัพภูตพรายออกไปรบแต่เมื่ออันธกาสูรถูกอาวุธ และโลหิตหยดลงสู่พื้นก็บังเกิดอสูรนับพันตน 

พระศิวะจึงแบ่งภาคเป็นนางโยเกศวรี อ้าพระโอษฐ์รองรับโลหิตนั้น นอกจากนี้ทวยเทพยังส่งนางศักติมาตริกา ( จามุณฑา มเหศวรี ไวษณวี พราหมณี เกามารี อินทราณี วราหิ นาราซิมหิ ) มาช่วยรบ ในท้ายสุดพระศิวะทรงใช้ตรีศูลเสียบร่างอันธกาสูรตั้งชูไว้จนสิ้นชีพ


อีกตำนาน
    “อันทราสูร” ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่มีฤทธิ์มากตนหนึ่ง ซึ่งเกิดรักใคร่ในพระนางปารวตี มเหสีของพระศิวะ อสูรตนนี้ต้องการลักพาพระนางปารพตีไปเป็นเมียตนให้ได้ ต่อมาพระศิวะทรงทราบ จึงทรงพิโรธและได้ทำการต่อสู้กับอันทราสูร แต่ด้วยฤทธิ์เดชของอสูรที่มีอยู่นั้น คือหากมีเลือดออกจากตัวไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม หยดเลือดนั้นจะกลายเป็นตัวตนขึ้นมาใหม่เรื่อยไปไม่สิ้นสุด การต่อสู้ในครั้งนี้ทำให้พระศิวะ ทรงใช้เวลาในการทำศึกนานออกไปมาก ดังนั้นพระศิวะจึงทรงเนรมิตเทพจามุนทร และ พระแม่เจ้า 7 พระองค์ เพื่อเข้าช่วย โดยให้เทพจามุนทร และ พระแม่เจ้าทั้ง 7 พระองค์ คอยกินเลือดอสูรเพื่อไม่ให้กลายร่างขึ้นมาใหม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปอสูรก็ยังคงปรากฏกายขึ้นเรื่อย ๆ จนพระศิวะ ต้องทูลขอให้พระนารายณ์ เสด็จมาช่วยปราบอันทราสูรตนนี้ พระนารายณ์จึงบันดาลอิทธิฤทธิ์เอาชนะอสูรตนนี้ จนภายหลังอสูรยอมอ่อนน้อม เคารพนับถือพระศิวะ ซึ่งพระองค์ทรงโปรดแต่งตั้งให้อันทราสูรตนนี้ เป็นหัวหน้าของราชบริพารคนแคระ ของพระองค์สืบมา ลักษณะทางศิลป์ พระศิวะปางอันทรากาสูรวทามูรติ ทรงมี 8 กร โดยที่ 2 กร ถือตรีศูล ส่วนพระกรอื่น ๆ ทรงกลอง (บัณเฑาะว์) หรือ ระฆัง ดาบ หัวกระโหลกผี หนังช้าง และ กรที่เหลือทำปางทาจานิ คือ นิ้วชี้เหยียดตรงไปด้านหน้า นิ้วอื่นงอเข้าหากัน มีรูปเทพธิดาโยเกสวารีนั่งอยู่ข้างหน้าพระศิวะ เทพธิดาองค์นั้น ถือถ้วยสำหรับใส่หยดเลือดของอสูรอันทราสูร ส่วนอีกมือทรงถือกริช

ที่มา http://variety.phuketindex.com/faith/พรพระศิวะ-ปาง-3032.html

วันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

พระอภัยมณีกับนางเงือกมีเพศสัมพันธ์กันอย่างไร ??

พระอภัยมณีกับนางเงือกมีเพศสัมพันธ์กันอย่างไร ??

คนที่รู้จักเรื่องพระอภัยมณีคงเข้าใจในเบื้องต้นว่า พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณ ถูกให้ออกจากเมืองมา จนนางผีเสื้อลักพาตัวไป จากนั้นอยู่ด้วยกันจนมีพยานรักด้วยกัน 1 ชีวิตคือสินสมุทร วันหนึ่งผีเสื้อสมุทรออกจากถ้ำไปหาอาหาร สินสมุทรจึงออกไปเที่ยวเล่นน้ำ ขณะสินสมุทรว่ายน้ำอยู่ได้เห็นสิ่งมีชีวิตประหลาด 

สิ่งมีชีวิตประหลาดที่เรียกว่า "เงือก" นั้นเป็นคน แต่มีหางเหมือนปลา ทำให้หลายคนเข้าใจว่า ท่อนบนของเงือกเป็นคน ส่วนท่อนล่างเป็นปลา เมื่อพระอภัยมณีได้นางเงือกจนเกิดโอรสคือ สุดสาครขึ้นมา ทำให้คนอ่านคิดกันเล่น ๆ ว่า พระอภัยมณีได้กับนางเงือกทางไหน แล้วก็มีคนให้คำตอบแบบขำ ๆ ว่า "เข้าทางไหนก็ออกมาทางนั้นแหละ" ซึ่งนางเงือกก็ได้สำรอกสุดสาครออกมาทางปาก และในบทอัศจรรย์ระหว่างพระอภัยมณีกับนางเงือกก็ไม่ได้บอกลึกซึ้งถึงเส้นทางด้วย แต่ยิ่งสงสัยเข้าไปอีก ถ้าใครอ่านพระอภัยมณีถึงช่วงท้ายที่พบว่า นางเงือกนั้นได้ถูกพระอินทร์ตัดหาง เพื่อให้นางเงือกกลายเป็นมนุษย์ นางเงือกเมื่ออาศัยอยู่กับพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร ก็ภาวนารักษาศีล จนกระทั่งอานิสงส์ของนางทำให้ที่นั่งของพระอินทร์นั้นแข็ง จากนั้นพระอินทร์ก็ลงมาทำให้นางเป็นมนุษย์ด้วยการตัดหาง เพื่อให้นางเงือกได้กลับไปหาสุดสาคร ที่ในขณะนั้นเป็นกษัตริย์แล้วปัญหาคือ ถ้านางเงือก มีท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นปลา เมื่อตัดหางแล้วจะเป็นมนุษย์ได้อย่างไร?

จากวรรค "รูปเป็นนางหางเป็นปลาอยู่วาริน ถ้ารวมกับบทตอนสินสมุทรพบเงือกว่า "คิดว่าคนมีหางเหมือนอย่างปลา" แล้วจะพบว่า เงือกในพระอภัยมณีนั้นรูปร่างเหมือนมนุษย์ทุกอย่าง มีแขนมีขา และมีหางปลาด้วย เมื่อมีขาฉะนั้นหางปลาต้องอยู่ที่ก้น พอตัดหางที่ก้น ก็จะกลายเป็นมนุษย์บริบูรณ์ ยืนยันว่าเงือกมีแขนขา จากตอนที่นางผีเสื้อสมุทรจับพ่อแม่เงือกกินว่า(มีปรากฏอยู่ในหนังสือแบบเรียนด้วย) "แล้วนางยักษ์หักขาฉีกสองแขนไม่หายแค้นเคี้ยวกินสิ้นทั้งคู่"

สรุปว่า เงือกไทย ไม่ใช่ Mermaid แบบฝรั่ง ที่มีท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นปลา แต่เงือกไทย เป็นคนแต่มีหางปลาออกไปทางก้นและพระอภัยมณีสมสู่กับนางเงือกแบบที่ทำกับมนุษย์ปกติ

วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

จริงหรือ ? ที่ต้วนอี้สามารถดูดพลังใครก็ได้เพียงแค่สัมผัสตัว


จริงหรือ ? ที่ต้วนอี้สามารถดูดพลังใครก็ได้เพียงแค่สัมผัสตัว

ต้วนอี้มีวิชาติดตัวอยู่ไม่มาก แต่ล้วนเป็นยอดวิชาทั้งสิ้น หนึ่งในยอดวิชานั้นคือ ลมปราณภูตอุดร ที่สามารถดึงดูดกำลังภายในของผู้อื่นมาสะสมเป็นของตัวเองได้

หลายท่านเข้าใจผิดว่าต้วนอี้สามารถดูดพลังใครก็ได้ เพียงมาสัมผัสตัวก็จะโดนดูดพลังไป แต่ในความเป็นจริง การจะดูดกำลังภายในของผู้อื่นด้วยลมปราณภูตอุดร มิได้สะดวกง่ายดายปานนั้น มันมีเงื่อนไขของตัววิชาอยู่หลายอย่าง

ข้อจำกัดแรก โดยปกติแล้วการดึงดูดกำลังภายในจากผู้อื่นจะต้องผ่านจากทางนิ้วหัวแม่มือขวา แต่สำหรับต้วนอี้ในครั้งแรกนั้นเป็นความประจวบเหมาะที่โดนต่อยเข้าที่จุดที่เป็นทะเลลมปราณพอดี จึงสามารถดึงดูดพลังมาได้ 


นอกจากต้องใช้นิ้วหัวแม่มือขวาแล้ว จุดสำคัญอีกอย่างยังต้องเป็นขณะที่ฝ่ายตรงข้ามกำลังใช้กำลังอยู่ด้วย ที่สำคัญการดูดพลังจากคนที่มีกำลังภายในมากกว่าเป็นเรื่องอันตรายยิ่ง 

สรุปว่า การจะดูกำลังภายในผู้อื่นมีเงื่อนไขแบบปกติอยู่ 3 อย่างคือ ต้องใช้นิ้วหัวแม่มือในการดูดพลัง ต้องเป็นจังหวะที่ฝ่ายตรงข้ามกำลังใช้พลัง และฝ่ายตรงข้ามต้องมีพลังน้อยกว่าตนเอง

อย่างไรก็ตามเมื่ออ่านลงไปในรายละเอียด จะพบว่ายังมีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น ในครั้งแรกต้วนอี้ไม่มีกำลังภายในเลย แต่สามารถดูดคนที่มีกำลังภายในมากกว่าได้ โดยตอนนั้นโดนต่อยซึ่งไปพอดีกับจุดทะเลลมปราณเลยดูดได้โดยไม่ใช้หัวแม่มือ หรือตอนที่มู่หยงฟู่โจมตีผ่านแก้มต้วนอี้พลังก็โดนดูดไปได้ หรือจิวหมอจื่อโดนหวังอวี่เยี่ยนกัด ด่านลมปราณเปิดออกเลยโดนดูไปได้ และจากบางช่วงตอน ที่บอกว่าต้วนอี้เรียนแค่สายเดียวคือผ่านทางหัวแม่มือ คล้ายกับจะบอกว่าวิชานี้อาจมีดูดพลังจากส่วนอื่นได้ด้วย เพียงแต่ต้วนอี้ไม่ได้เรียน 


เปรียบเทียบความงามของตัวละครหญิงใน 8 เทพอสูรมังกรฟ้า


เปรียบเทียบความงามของตัวละครหญิงใน 8 เทพอสูรมังกรฟ้า

 ในเรื่องแปดเทพอสูรมังกรฟ้ามีสาวงามอยู่มากมาย แต่ละนางก็งามแตกต่างกันไป ในบทความนี้จะรวมรวมบทบรรยายความงามของตัวละครหญิงในเรื่องมาให้เปรียบเทียบกัน 


จงหลิง (เจ็งเล้ง)
- ส่วมใส่อาภรณ์เขียวสดใสใบหน้ายิ้มแย้มพริ้งพราย
- เห็นจันทราเพิ่งลอยพ้นขอบฟ้า ส่องต้องใบหน้าสีขาวอมแดงของนาง ยิ่งขับเน้นถึงความงามสะคราญ
- ตวนอื้อค่อยฟื้นคืนสติมาอย่างแช่มช้า รู้สึกกลางหลังอิงแอบกับความนุ่มนิ่ม จมูกสูดได้กลิ่นหอมรวยริน พอลืมตาขึ้นเห็นเจ็งเล้งเบิกตากลมกระจ่างทั้งคู่มองมาอย่างร้อนรุ่ม
- ตวนอื้อเห็นนางยืนอยู่เบื้องหน้าของตัว ห่างกันเพียงเชียะเศษ พวยพุ่งลมหายใจหอมกรุ่นดุจกล้วยไม้ ยิ่งพิศยิ่งงดงามซึ้งใจ ยามกระทันหันไม่อาจหักใจจากไป
- นางใบหน้ากลม ข้างแก้มมีรอยลักยิ้มเล็กๆ กลับเป็นเจ็งเล้ง
- เจ็งเล้งซ่อนตัวอยู่ใต้เตียง ใบหน้าพลอยแปดเปื้อนเถ้าฝุ่น ดวงตาทั้งคู่กลับดำขลับประดุจนิล สุกใสราวน้ำค้างกลางหาว


หวังอวี่เยี่ยน (เฮ้งงื่อเอียง)
  
- เสียงทอดถอนหายใจนี้น่าฟังถึงเพียงนี้ ในโลกไหนเลยมีสุ้มเสียงเช่นนี้ได้ ต้วนอื้อได้ยินเสียงถอนหายใจก็สะท้านหวั่นไหวแล้ว รอจนได้ยินคำพูดสองประโยคนี้ ถึงกับเลือดลมระอุพลุ่งพล่าน ในใจบังกิดความขื่นขมอิจฉาเลื่อมใสอย่างบอกไม่ถูก
- รู้สึกว่าข้างกายสตรีนางนี้คล้ายปกคลุมด้วยหมอกควันบางเบา มิใช่คนในโลกีวิสัย
- หญิงสาวเบื้องหน้ามีข้อแตกต่างกับรูปปั้นหยกในถ้ำศิลาอยู่บ้าง รูปปั้นหยกเฉิดฉายพริ้งพรายแฝงท่วงท่าคร่าขวัญสะกดวิญญาณ หญิงสาวเบื้องหน้ากลับเรียบร้อยสำรวม แฝงความไร้เดียงสา
- ครั้งกระโน้นยอดกวีลี้แป๊ะใช้ดอกรักเร่เปรียบเปรยความงามของพระสนมเอี้ยกุ้ยฮุย หากว่าท่านมีวาสนาพบเห็นเสียวเจี้ยะ จะทราบว่าไม้ดอกแม้งดงามแต่ปราศจากเจ้าแง่แสนงอน แราศจากถ้อยคำอ่อนโยน ปราศจากรอยยิ้มปิติ ปราศจากความหม่นหมองศี ไม่อาจทัดเทียมเปรียบได้จริงๆ
- ต้วนอื้อเห็นนางใช้นิ้วชี้ข้างซ้ายที่เรียวงาม ชี้ไปบนหลังมือข้างขวาที่ขาวละเอียดอ่อน รู้สึกลำคอแห้งผาก สมองหมุนมึนงง


มู่หว่านชิง (บักอ้วงเช็ง)
  
- ยามนี้ตวนอื้อเพิ่งเผชิญหน้ากับนางโดยตรง เห็นบนใบหน้านางคลุมผ้าสีดำผืนหนึ่ง เพียงเจาะช่องนัยน์ตาสองรู ตากระจ่างจ้าทั้งคู่ดำขลับดุจนิลพวยพุ่งมาที่ตน
- อาทิตย์ลอยอยู่กลางฟ้า แสงแดดอันเจิดจ้าพอดีส่องต้องหน้าซีกล่างของนาง ตวนอื้อเห็นปลายคางของนาง เรียวแหลม มีผิวละเอียดอ่อน เรียบลื่นเป็นประกายเช่นเดียวกับแผ่นหลัง ไม่มีรอยฝีดาษแม้สักครึ่งจุด ปากน้อยๆ รูปกระจับสวยงาม ริมฝีปากบางเบาฟันซี่เล็กๆ ทั้งสองแถวคล้ายหยกละเอียด อดหวั่นไหวใจมิได้
- ขณะครุ่นคิด น้ำลำธารไหลลงจากร่องนิ้วกระเซ็นใส่ ครึ่งซีกหน้าของบักอ้วงเช็งเต็มไปด้วยหยดน้ำ คล้ายแผ่นหยกรองรับไข่มุก เกล็ดน้ำค้างบนกลีบบุปผาก็มิปาน
- ตวนอื้อสะท้านทั้งร่าง ที่ปรากฏเบื่องหน้าคล้ายจันทราทอแสงนวลใย ดั่งพฤกษาดอกไม้สุมหิมะ ใบหน้าสวยซึ้งผุดผาด เพียงแค่ซีดขาวเกินไปไม่มีสีเลือดแม่แต่น้อย คาดว่าเป็นเพราะนางคลุมหน้าอยู่ชั่วนาตาปี ริมฝีปากบางเบาทั้งสองข้างก็มีสีเลือดอ่อนจาง ตวนอื้อรู้สึกว่านางอ่อนหวานนุ่มนวลชดช้อยชวนเวทนา ไหนเลยเป็นนางมารที่ฆ่าคนโดยไม่กระพริบตา
- ตวนอื้อยื่นมือโอบเอวอ้อนแอ้นของนาง รู้สึกลื่นนุ่มราวไร้กระดูกต้องหวั่นไหวใจอีกครา ก้มศีรษะจุ่มพิตริมฝีปากของนาง ในชีวิตของเขานี่เป็นครั้งแรกที่จุมพิตอิสตรี ไม่กล้าจุมพิตนานไป รีบถอนศีรษะมาด้านหลังเหม่อมองใบหน้างามซึ้งของนางอย่างซึมเซา "น่าเสียดายข้าพเจ้าไม่อาจมีชีวิตยืนยาว ใบหน้าที่งดงามเช่นนี้มีโอกาสได้เห็นไม่นานนัก" บักอ้วงเช็งพอถูกจุมพิตคราหนึ่ง หัวใจก็เต้นตูมตาม สองข้างแก้มแดงซ่านด้วยความเอียงอาย ทำให้ใบหน้าที่ไร้สีเลือด เพิ่มความเฉิดฉันอีกสามส่วน


อาปี้ (อาเพ็ก)
  
- เห็นมือเรียวงามของหญิงสาวนางนั้น ผิวนวลเนียนประดุจหยก ใต้ระลอกเขียวขับสะท้อนคล้ายโปร่งใสก็ปาน
- ชุยแป๊ะจั้วกับก่วยงังจือแม้เผชิญศัตรูเข้มแข็งยังอดเหลียวมองนางแวบหนึ่งมิได้
- สุ้มเสียงไพเราะอ่อนหวาน สร้างความปลอดโปร่งแก่ผู้รับฟัง หญิงสาวนางนี้มีอายุสิบหกสิบเจ็ดปี สีหน้าอ่อนโยนนุ่มนวล รูปกายสดใสงดงาม
- เห็นอาเพ็กเม้มปากหัวร่อ ชะม้ายมองมาที่ตัวเอง ผิวพรรณของนางขาวราวกระจับที่สดใหม่ มุมปากมีไฝดำเม็ดเล็กๆ ยิ่งเพิ่มความคมขำกว่าเดิม
- ตวนอื้อครุ่งคิดขึ้น คิดไม่ถึงสตรีแดนกังหนำ กลับงดงามถึงเพียงนี้ ซึ่งความจริงหญิงสาวชุดเขียวนี้ ไม่ได้งดงามถึงที่สุด ยังสู้บักอ้วงเช็งไม่ได้ แต่รูปโฉมโนมพรรณแปดส่วน บวกกับความอ่อนโยนนุ่มนวลสองส่วน ทำให้ไม่เป็นรองหญิงงามสิบส่วน


อาจู
  
- อาเพ็กสวมเสื้อผ้าสีเขียวอ่อน ยืนรอรับแขกอยู่ ที่ข้างกายยืนไว้ด้วยหญิงสาวชุดสีชมพูนางหนึ่ง อยู่ในวัยสิบหกสิบเจ็ดปีเช่นกัน คล้ายยิ้มคล้ายไม่เชิงยิ้ม สีหน้าแฝงแววซุกซน อาเพ็กมีใบหน้ารูปแตง งามอย่างสดใส หญิงสาวนางนี้มีใบหน้ารูปไข่ ดวงตากลอกกลิ้งประเปรียวเป็นเสนห์ความงามอีกแบบหนึ่ง
- ตวนอื้อสั่นศีรษะ กล่าวว่า "ล้วนมิใช่ ข้าพเจ้าเพียงเห็นว่าเทพยดาฟ้าดินมีความสามารถนัก กลับเนรมิตหญิงงามเช่นอาเพ็กเจ้เจ๊ รวมความงามสดใสของแดนกังหนำอยู่ในร่างเดียวนับว่าหมดจดมากแล้ว มิคาดยังสามารถสร้างสรรค์อาจูเจ้เจ๊อีกคนหนึ่งทั้งสองมีรูปโฉมผิดแผก ต่างความน่าดู ทำให้ข้าพเจ้าคิดชมเชยสักหลายคำ จนใจที่ไม่สามารถกล่าวจากปากได้"
- อาจูความจริงไม่ชมชอบดื่มสุรา แต่เพื่อเพิ่มรสชาติให้แก่เซียวฮง จึงฝืนใจดื่มเป็นเพื่อนหลายจอก ทำให้ใบหน้าแดงซ่าน เพิ่มความวาบหวามกว่าเดิม


คังเหมี่ยน, หม่าฮูหยิน (เบ๊ฮูหยิน)
  
- ยามนี้อาทิตย์สนธยาใกล้ลับฟ้าแสงสีเรื่อเหลืองส่องต้องใบหน้านาง เซียวฮงค่อยดูออกว่าหางตานางมีรอยย่นเล็กน้อยอยู่ในวัยสามสิบห้าสามสิบหกปี ใบหน้าไม่พอกแป้งแต้มชาด ผิวพรรณขาวนวลเนียน ความงามคล้ายไม่ด้อยกว่าอาจู
- เซียวฮงรู้สึกว่าสุ้มเสียงนางอ่อนนุ่มพัวพัน พอกระทบโสตชวนวาบหวามพรากวิญญาณหลุดลอยจากร่าง แต่นางคล้ายกล่าววาจาจากใจไม่ได้มีจริตมารยา ในชีวิตของเขาผ่านพบผู้คนมาไม่น้อย คิดไม่ถึงว่าในโลกมีสตรีที่ทรงเสนห์ถึงเพียงนี้ อดหน้าแดงวูบมิได้ เขาเคยพบเห็นชู้รักของตวนเจี่ยซุ้งอีกสองนาง ฉิ้งอั้งมี้โอ่อ่าผ่าเผย ง้วนแชเต็กสดใสร่าเริง เบ๊ฮูหยินนี้กลับนุ่มนวลถึงขีดสุด หยาดเยิ้มถึงที่สุด
- ไม่ว่านักสู้ผู้กล้าใด ล้วนมองดูเราตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าคนที่สูงด้วยวัย ก็ลอบแอบดูเรา มีแต่ท่าน...เฮอะ บรุษนับพันในงานชุมนุมร้อยบุปผา มีแต่ท่านที่ไม่มองดูเรา งานชุมนุมร้อยบุปผาที่เมืองลกเอี้ยง ในลูกผู้ชายถือท่านอยู่อันดับหนึ่ง ท่านกลับไม่แยแสเหลือบแลเรา ต่อให้เราถือดีในรูปโฉมกว่านี้ จะมีประโยชน์ใด


อาจี่ (อาจื่อ)
  
- นางสวมเสื้อสีม่วง มีอายุเพียงสิบห้าสิบหกปียังเยาว์วัยกว่าอาจูสองปี ตากลมโตดำขลับ เปี่ยมแววกลอกกลิ้งซุกซน
- เจ้เจ๊ผู้นี้รูปโฉมงดงาม ข้าพเจ้าชมชอบท่านยิ่ง "ท่านก็มีรูปโฉมงดงาม ข้าพเจ้ายิ่งชมชอบท่าน"
- อิ้วถั่งจือเห็นเท้าน้อยๆ ที่ขาวผ่องของนางนวลเนียนประดุจหยก นุ่มนิ่มดังแพรพรรณ หัวใจถึงกับเต้นถี่เร็ว จับจ้องมองเท้าของนางทั้งคู่ เห็นสีเนื้อบนหลังเท้าของนางคล้ายปร่งใส เผยเห็นเอ็นเขียวหลายเส้น ในใจคิดยื่นมือลูบคลำสักหลายครา


สรุปการเปรียบเทียบความงาม
- จงหลิงนั้นถูกบรรยายความงามเพียงแต่ในสายตาของต้วนอี้เท่านั้น ในเนื้อเรื่องทั่วไปไม่ค่อยมีพูดถึง อาจี่ เป็นที่ลุ่มหลงของ อิ้วถั่งจือ มาก แต่ในบทบรรยายตอนอื่นไม่ได้ถูกกล่างถึงความงามเป็นพิเศษ

- อาเพ็กกับอาจู ในความเห็นของต้วนอี้รู้สึกว่า งดงามทั้งคู่ แต่ไปในแนวทางที่ต่างกัน ดังนั้นถือว่าอยู่ในระดับเดียวกัน ส่วนคังเหมี่ยน แม้จะอายุไม่น้อยแล้ว แต่เฉียงฟงเปรียบเทียบไว้ว่า งามไม่แพ้อาจู ดังนั้น 3 คนนี่ น่าจะถือว่างามในระดับเดียวกัน

- มู่หว่านชิง ดูน่าจะงามกว่า 5 คนที่ผ่านมา วัดจาก ที่ต้วนอี้เห็นว่า อาเพ็ก ยังงามไม่เท่า มู่หว่านชิง

- สุดท้ายคือ หวังอวี่เยี่ยน นางเอกของเรื่อง หวังอวี่เยี่ยน นั้นรูปร่างหน้าตาคล้ายกับรูปปั้นพี่นางฟ้า ถึงแม้ในเรื่องจะไม่ได้มีการพูดถึงความงามของหวังอวี่เยี่ยนมากมายเป็นพิเศษ แต่ต้วนอี้ก็ได้เปรียบเทียบความงามของพี่นางฟ้ากับสาวอื่นค่อนข้างชัดเจน เช่นตอนนี้เปรียบเทียบพี่นางฟ้าว่างามกว่า มู่หว่านชิง

 จึงสรุปว่าในรุ่นเยาว์นี่ หวังอวี่เยี่ยน่าจะงดงามที่สุด มู่หว่านชิง รองลงมา อาเพ็ก อาจู และ คังเหมี่ยน พอๆกัน จงหลิง กับ อาจี่ น่าจะตามมาแบบติดๆ ส่วนในรุ่นใหญ่ บรรดาภรรยาของ ต้วนเจิ้งฉุน ก็ลวนแต่งดงาม ขอแยกกล่าวไว้ในอีกบทความ

วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

5 เมียสุดแซ่บของหนุมาน ทหารเอกแห่งรามเกียรติ์ !


5 เมียสุดแซ่บของหนุมาน ทหารเอกแห่งรามเกียรติ์ !

หนุมานถือเป็นตัวละครในวรรณคดีไทยที่มีเมียมากถึง 
5005 คนด้วยกัน!!!  ส่วนเหล่าเมีย 5 + 5000 ของหนุมานจะมีใครบ้าง? แล้วทำไมพี่หวานถึงแยกระหว่าง 5 กับ 5000? ถ้าอยากรู้ก็เลื่อนลงมาอ่านข้างล่างได้เลยยย


คนที่ 1 นางบุษมาลี
ความสัมพันธ์กับหนุมาน  นางบุษมาลีเคยเป็นนางฟ้าอยู่บนชั้นฟ้า ซึ่งถูกพระอินทร์สาปให้ลงมาอยู่เฝ้าเมืองๆ หนึ่ง ที่เป็นเหมือนเมืองร้างและให้นางอยู่เพียงลำพัง เพราะว่านางเคยทำตัวเป็นแม่สื่อให้สนมของพระอินทร์กับท้าวตาวัน เเละในระหว่างทางที่หนุมาน องคตและชมพูพานกำลังเดินทางไปยังกรุงลงกาเพื่อสืบข่าวของนางสีดานี้เองค่ะได้พบกับเมืองร้างนี้เข้า หนุมานอาสาเข้าไปตรวจดูภายในเมืองเพียงคนเดียว ก็ได้พบกับนางบุษมาลี ด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงามสมกับเป็นนางอัปสรลงมาจากสวรรค์ ความเจ้าชู้ก็แล่นไปทั่วกายของหนุมาน ทำทีเข้าไปหาเพื่อถามทาง และได้พูดคุยถึงที่ไปที่มาของนาง

แต่จริงๆ หนุมานทำไปเพราะตั้งใจไปเพื่อเกี้ยวพาราสีนางบุษมาลีต่างหากล่ะ เพราะนางสวยขนาดนี้หนุมานคงไม่ปล่อยผ่านไปเฉยๆ แน่นอนนางบุษมาลีก็ได้เล่าถึงสาเหตุที่ทำให้นางต้องมาติดอยู่ที่เมืองนี้ทั้งยังบอกอีกว่านางต้องคำสาปจนกว่าจะได้เจอกับทหารเอกของพระนารายณ์มาอุ้มนางโยนกลับขึ้นไปบนฟ้าดังเดิมจึงจะพ้นคำสาป หนุมานได้ฟังดังนั้นก็แสดงตนด้วยการหาวเป็นดาวเป็นเดือนให้นางบุษมาลีดู และในที่สุดก่อนที่นางบุษมาลีจะถูกหนุมานโยนกลับขึ้นไปบนสวรรค์ ก็ได้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับหนุมานไปเรียบร้อยแล้ว


คนที่ 2 นางเบญกาย
ความสัมพันธ์กับหนุมาน  นางเบญกายเป็นลูกของพิเภกกับนางตรีชฎา เหตุการณ์ที่ทำให้นางเบญกายเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องรามเกียรติ์ก็คือ หลังเหตุการณ์ที่หนุมานได้บุกมาสอดแนมข้อมูลที่กรุงลงกาและจัดการเผาบ้านเมืองจนพังเละเทะ ทศกัณฐ์เป็นกังวลว่าขนาดตัวทหารยังเก่งกล้าขนาดนี้ถ้าต้องสู้กับทัพพระราม ฝ่ายตนอาจจะเสียเปรียบมากก็เป็นได้ จึงคิดอุบายและได้เรียกนางเบญกายเข้าเฝ้าเพื่อมอบหมายงานให้ โดยให้นางแปลงกายเป็นศพนางสีดาลอยทวนน้ำไปจนถึงที่พักของพระราม หวังจะตัดกำลังใจของพระรามว่ามเหสีของตนนั้นตายไปแล้ว

และผลก็เป็นอย่างที่ทศกัณฐ์คาดการณ์ เมื่อพระรามและพระลักษณ์เห็นศพนางสีดาลอยมาก็พากันเสียใจอย่างมาก มีแต่หนุมานที่สงสัยว่าถ้าเป็นศพนางสีดาจริงๆ ทำไมถึงลอยทวนน้ำได้ ไม่มีกลิ่นเหม็น และไม่เน่าเปื่อย จึงได้ทำการพิสูจน์โดยนำร่างของนางสีดาไปเผาไฟ นางเบญกายในร่างแปลงร้อนรุ่มร่างกายทนไม่ได้จึงกลับสู่สภาพเดิมของตนและเหาะหนีไป แต่หนุมานก็ตามจับกลับมาจนได้ เพราะว่านางเบญกายเป็นลูกของพิเภก พระรามจึงให้พิเภกเป็นคนตัดสินบทลงโทษเพื่อลองใจ พิเภกได้บอกให้พระรามประหารชีวิตนางเบญกาย แสดงให้เห็นถึงการเป็นคนมีความจงรักภักดีต่อพระราม เมื่อลูกทำผิดก็ว่าไปตามผิด พระรามเห็นแก่พิเภกจึงไว้ชีวิตนางเบญกายและให้หนุมานนำตัวกลับไปส่งที่กรุงลงกา และในโอกาสที่กำลังนำตัวไปส่งนั่นเองหนุมานได้เกี้ยวพาราสีนางเบญกายและได้นางเป็นเมียในที่สุดค่ะ เวลาต่อมานางเบญกายก็ได้ให้กำเนิดลูกของนางกับหนุมาน ชื่อว่า อสุรผัด มีหน้าเป็นลิงเหมือนหนุมานแต่มีกายเป็นยักษ์เหมือนนางเบญกายค่ะ


คนที่ 3 นางสุพรรณมัจฉา
ความสัมพันธ์กับหนุมาน  นางสุพรรณมัจฉาเป็นลูกของทศกัณฐ์ที่เกิดกับนางปลา มีครึ่งบนเป็นยักษ์แต่เป็นยักษ์ที่มีหน้าตาสะสวย ส่วนครึ่งล่างมีหางเป็นปลาเหมือนแม่ เรื่องราวระหว่างนางสุพรรณมัจฉากับหนุมานเริ่มต้นขึ้นเมื่อทศกัณฐ์ได้มีรับสั่งให้นางสุพรรณมัจฉาพาเหล่าบริวารปลาใต้ท้องทะเลไปทยอยขนหินออกจากการถมทะเลของกองทัพพระราม โดยมีสุครีพเป็นผู้คุมเหล่าวานรในการขนก้อนหินไปทำเป็นถนนมุ่งสู่กรุงลงกา ซึ่งสุครีพก็สังเกตเห็นความผิดปกติอีกอย่างนั่นคือไม่ว่าจะถมก้อนหินลงไปเท่าไหร่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะสร้างทางได้สำเร็จขึ้นเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งก้อนหินที่ขนไปยังลดน้อยลงเรื่อยๆ

หนุมานได้ฟังดังนั้นก็เกิดความสงสัยและได้ว่ายลงไปดูใต้ทะเล จึงพบว่าเหล่าบริวารปลาของนางสุพรรณมัจฉากำลังคาบก้อนหินออกไปทีละก้อน หนุมานได้จัดการฝูงปลาเหล่านั้นด้วยความโมโหและไล่ตามนางสุพรรณมัจฉาไปหวังจะฆ่าให้ตาย แต่เมื่อได้มองหน้าชัดๆ และได้ยินเสียงร้องหวานๆ เอ่ยขอให้หนุมานไว้ชีวิต ด้วยความเจ้าชู้ที่มีอยู่เป็นทุนเดิมก็ทำให้หนุมานเกี้ยวพาราสีนางสุพรรณมัจฉาจนนางเกิดความหลงใหล เเละยอมมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งจนตั้งท้องและได้ให้กำเนิดบุตรชายด้วยกัน คือ มัจฉานุ ผู้มีรูปร่างเป็นลิงเผือกเหมือนพ่อ แต่มีหางเป็นปลาเหมือนแม่ ภายหลังพระรามได้ใช้พระขรรค์ตัดหางปลาออกให้มัจฉานุเพื่อจะได้ใช้ชีวิตสะดวกขึ้นนั่นเอง


คนที่ 4 นางวารินทร์
ความสัมพันธ์กับหนุมาน  นางวารินทร์นั้นเดิมทีเป็นนางฟ้าอยู่บนสวรรค์ คอยดูแลโคมไฟบนเขาไกรลาส แต่วันหนึ่งเกิดทำโคมไฟดับพระอิศวรจึงลงโทษให้ต้องมาอยู่ที่เขาอังกาศ และมีหน้าที่รอคอยเพื่อบอกที่ซ่อนของวิรุณจำบังให้แก่หนุมาน ซึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้นางวารินทร์และหนุมานได้มาเจอกันก็คือตอนที่หนุมานออกตามล่าตัววิรุณจำบัง เมื่อครั้งหนึ่งวิรุณจำบังอาสาทศกัณฐ์ไปรบกับทัพพระรามแต่ใกล้เพลี่ยงพล้ำเสียที จึงได้ใช้เวทมนตร์พรางตัวเองก่อนจะหนีไปพบกับนางวารินทร์ที่เขาอังกาศ นางจึงชี้แนะให้ไปซ่อนตัวอยู่ในฟองน้ำที่แม่น้ำสีทันดร

พระรามมีคำสั่งให้หนุมานออกตามหาตัวแต่ก็ไม่พบสักที จนกระทั่งได้มาพบกับนางวารินทร์ หนุมานพยายามเกี้ยวพาราสีนางแต่นางวารินทร์ไม่ยอมง่ายๆ นางบอกไม่เชื่อว่าจะใช่หนุมานตัวจริง ต้องมีการยืนยันตัวตนเสียก่อน หนุมานก็ได้สำแดงอิทธิฤทธิ์โดยการหาวเป็นดาวเป็นเดือนให้นางวารินทร์ดู นางจึงได้เชื่อและก็ตกเป็นเมียของหนุมานอีกคน! และนางวารินทร์ก็ได้บอกที่ซ่อนของวิรุณจำบังให้ด้วย เมื่อหนุมานได้ข้อมูลก็รีบตามไปสังหารวิรุณจำบัง ส่วนนางวารินทร์ก็ร้อนใจที่หนุมานหายไปนาน กลัวว่าตนจะถูกทิ้งให้คอยเก้อ แม้ว่าจะทำหน้าที่ของตนเสร็จแล้วแต่ด้วยความหลงเสน่ห์หนุมานก็ไม่อยากจะกลับไปยังเขาไกรลาศ นางจึงรอจนหนุมานเหาะกลับมาหาและได้พาตัวไปส่งในที่สุด


คนที่ 5 นางมณโฑ 
ความสัมพันธ์กับหนุมาน เรื่องราวระหว่างนางมณโฑกับหนุมานค่อนข้างจะซับซ้อนเล็กน้อย หากจะเหมารวมว่าหนุมานเป็นสามีที่ชัดเจนของนางมณโฑเหมือนอย่างพาลีหรือทศกัณฐ์ก็คงไม่ใช่ เพราะครั้งนี้หนุมานได้ใช่เล่ห์กลเพื่อเข้าหานางมณโฑ

เรื่องราวเริ่มต้นจากที่ทศกัณฐ์ได้สอบถามว่านางมณโฑเรียนรู้ศาสตร์อะไรมาจากพระแม่อุมาบ้าง นางจึงบอกว่าเคยเรียนวิชาทำน้ำมนต์ที่สามารถทำให้ผู้ถูกประพรมนั้นเหาะเหินเดินอากาศและฟื้นคืนชีพได้ แต่ในช่วงที่ทำพิธีห้ามพูดจาหรือร่วมหลับนอนกับใครทั้งสิ้นเป็นเวลา 7 วัน ทศกัณฐ์ได้ฟังก็ดีใจจึงจัดตั้งโรงพิธีให้นางมณโฑอย่างรีบเร่ง เมื่อนางทำพิธีจนได้น้ำมนต์มาแล้วทศกัณฐ์เอาไปใช้ก็สร้างความแปลกให้ให้แก่ฝ่ายพระรามอย่างมากว่าทำไมพวกยักษ์จึงฆ่าไม่ได้ เเน่นอนว่าคนที่จะแถลงไขเรื่องราวทั้งหมดได้ก็คือพิเภกค่ะ เมื่อพระรามทราบจากพิเภกว่านางมณโฑเป็นผู้ทำน้ำมนต์ชุบชีวิตนี้ขึ้น จึงส่งหนุมานไปลวงเพื่อทำลายพิธี หนุมานก็ได้แปลงกายเป็นทศกัณฐ์กลับไปหานางพร้อมทหารติดตาม หลอกว่าได้ชัยชนะกลับมาแล้ว ให้เลิกทำพิธีแล้วมาพักผ่อนเสียก่อน นางมณโฑก็หลงกลทำให้คราวนั้นได้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับหนุมานในร่างทศกัณฐ์นั่นเองค่ะ ซึ่งการมีสัมพันธ์กับหนุมานก็ทำให้พิธีปลุกเสกน้ำมนต์นั้นต้องยกเลิกไป เเละทศกัณฐ์ก็ไม่สามารถใช้น้ำมนต์นั้นได้อีก จึงต้องแพ้ให้กับกองทัพของพระรามตามระเบียบ เมื่อกลับมาที่กรุงลงกาได้ทราบความจริงว่านางมณโฑพลาดท่าเสียทีหนุมานไปแล้ว เเต่ด้วยความรัก แม้นางมณโฑจะขอให้ประหารชีวิตนาง เเต่ทศกัณฐ์ก็บอกว่าไม่เป็นไร คอยปลอบนางจนดีขึ้น เเละบอกว่าตนจะหาทางสู้กับกองทัพพระรามด้วยทางอื่นต่อไป


คนที่ 6 เหล่านางสนมจำนวน 5000 คน
ความสัมพันธ์กับหนุมาน  มาถึงคนสุดท้าย ที่อาจจะเรียกเป็นคนไม่ได้ พี่หวานคิดว่าคงต้องใช้คำว่ากลุ่มคนขนาดใหญ่แทน เพราะว่าภายหลังเสร็จศึกและสังหารทศกัณฐ์ได้ พระรามก็มอบรางวัลให้แก่หนุมานอย่างงามค่ะ นั่นคือแบ่งให้ปกครองกรุงอโยธยาด้วยกันครึ่งหนึ่ง แต่ด้วยบุญของหนุมานมีไม่ถึงจึงรู้สึกร้อนรุ่มเวลาที่นั่งบนอาสนะ พระรามจึงไปสร้างเมืองใหม่ให้ครองและได้มอบสนมอีกจำนวน 5000 คน ไว้คอยปรนนิบัติ เป็นเหตุให้หนุมานได้มีเมียเพิ่มมาจากเดิมมากถึง 5000 คนเลยทีเดียว
 

วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ฤาษีภฤงคี ผู้ที่ไม่บูชาพระแม่ปารวตี


ฤาษีภฤงคี ผู้ที่ไม่บูชาพระแม่ปารวตี

ภฤงคีพระฤาษีภฤงคีเป็นสาวกของพระศิวะ โดยตามปกติสาวกของพระศิวะจะเคารพทั้งพระศิวะและพระแม่ารวตี แต่พระฤาษีภฤงคีเคารพแค่พระศิวะ และปฏิเสธที่จะบูชาพระแม่ปารวตี พระฤาษีภฤงคีไปเข้าเฝ้าพระศิวะที่เขาไกลาศ และต้องการเดินประทักษิณรอบพระศิวะโดยไม่เดินรอบพระแม่ปารวตี พระแม่ปารวตีจึงกล่าวว่า "เจ้าไม่สามารถเดินรอบเขาได้ เจ้าต้องเดินรอบพวกเรา เพราะพวกเราคือหนึ่งเดียว" พระแม่ปารวตีจึงประทับบนตักของพระศิวะ พระฤาษีภฤงคีจึงเเปลงกายเป็นผึ้งดำบินรอบกายของพระศิวะ โดยไม่บินรอบพระแม่ปารวตี พระศิวะและพระแม่ปารวตีจึงปรากฎในรูปของอรรถนารีศวร 

พระฤาษีภฤงคีจึงแปลงกายเป็นหนูคอยแทะทั้ง2พระองค์ให้แยกจากกัน พระแม่ปารวตีทรงไม่พอพระทัย จึงสาปให้พระฤาษีภฤงคีเสียทุกอวัยวะที่ได้รับจากแม่ เนื่องจากพระฤาษีปฏิเสธที่จะเคารพเทวสตรี พระฤาษีจึงเหลือกระดูก* และล้มไปพระฤาษีภฤงคีจึงสำนึกผิด และรู้ได้ว่าพระศิวะและพระแม่ปารวตีเป็นหนึ่งเดียวที่จะแยกจากกันไม่ได้ จึงขออภัยจากพระแม่ปารวตี

*ในปรัชญาตันตระเชื่อว่ามนุษย์รับกระดูกมาจากพ่อ และรับเลือดเนื้อจากแม่

วันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

नवरात्री นวราตรี (Navratri) เทศกาลบูชาพระแม่ทุรคา

 नवरात्री นวราตรี (Navratri) เทศกาลบูชาพระแม่ทุรคา

นวราตรี (Navratri, Navaratri, หรือ Navarathri) เป็นเทศกาลแห่งการบูชาและการเต้นรำ ในภาษาสันสกฤตคำว่า นว (nava) หมายถึง เก้า และ ราตรี (ratri) หมายถึง กลางคืน จึงมีความหมายตามตัวอักษรว่า “เก้าคืน” ซึ่งในช่วง “เก้าคืน” นี้จะมีการบูชาพระแม่ทุรคา (Durga) หรือศักติ (Shakti) ซึ่งหมายถึง พลังหรืออำนาจ ในเก้ารูปแบบโดยเทศกาลนี้จะจัดขึ้นสองครั้งต่อปี ในช่วงต้นฤดูร้อน และต้นฤดูหนาว ในช่วงฤดูหนาวนี้ตรงกับเดือนอัศวิน (Ashwin) ตามปฏิทินฮินดู

เทวีทุรคา หรือที่นิยมเรียกว่า พระแม่ทุรคา เป็นเทวีแห่งความมั่งคั่ง ความเจริญรุ่งเรือง และสุขภาพดี พระนางเป็นอวตารภาคหนึ่งของพระแม่ปารวตี มเหสีของพระศิวะ ตามตำนานเทพเจ้าฮินดู กล่าวถึงการปราบ มหิงสาสูร ซึ่งเป็นอสูรที่ทรงอำนาจมากจนไม่มีเทพเจ้าองค์ใดทำลายลงได้ ดังนั้นบรรดาทวยเทพต่างๆ จึงได้ไปเข้าเฝ้าพระนางทุรคาขอให้ทรงช่วย และเทพต่างๆ เหล่านั้น ก็มอบอาวุธที่ทรงอำนาจให้กับพระนาง เมื่อมีอาวุธครบครัน พระนางก็สามารถปราบอสูรร้ายลงได้ และสถานที่ที่มหิงสาสูรสิ้นชีพนั้น เดิมคือเมือง มหิศปุระ (Mahishpur) ปัจจุบันคือ เมืองไมซอร์ (Mysore) ชาวไมซอร์จึงมีการเฉลิมฉลองเทศกาลนี้อย่างยิ่งใหญ่สนุกสนาน
ในหนึ่งปี มีการจัดงานนวราตรีสี่ครั้งด้วยกัน เรียกตามฤดูกาลของอินเดียว่า วสันตะ นวราตรี, อาสาฒะ นวราตรี, ศรัท นวราตรี และเปาษะ/มาฆะ นวราตรี โดยมีรายละเอียดดังนี้ (เนื้อหาอาจแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น)
วสันตนวราตรี จัดเป็นเวลา 9 คืน เพื่ออุทิศแด่ศักติทั้งเก้ารูปของพระแม่ ในเดือนไจตระ (ตกอยู่ระหว่างมีนาคม-เมษายน) และเริ่มงานในคืนข้างขึ้น การเริ่มต้นของนวราตรีถือเป็นการเริ่มปีใหม่ของปฏิทินจันทรคติของฮินดู 

อาสาฒนวราตรี หรือคุปตนวราตรี หรือ คายตรี หรือ ศกัมพรีนวราตรี เรียกได้หลายชื่อ จัดขึ้นในเดือนอาสาฒ (บาลีว่า อาสาฬหะ) ผู้ร่วมพิธีบูชาส่วนใหญ่จะเป็นผู้ศรัทธาในลัทธิศักติ จัดงานในช่วงที่เรามีวันอาสาฬหบูชานั่นเอง

ศรัทนวราตรี นับว่ามีความสำคัญที่สุดในบรรดานวราตรีทั้งสี่ เรียกสั้นๆ ว่า มหานวราตรี คือ เป็นงานใหญ่ จัดขึ้นในเดือนอัศวิน อยู่ในช่วง กันยายน-ตุลาคม 

เปาษ หรือมาฆนวราตรี บ้างก็เรียก ศกัมพรีนวราตรี งานนี้จัดแปดวัน อยู่ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ไม่ได้เริ่มที่วันขึ้นหนึ่งค่ำ แต่เริ่มที่วันขึ้นแปดค่ำ(อัษฏมี) แล้วจบที่วันสิบห้าค่ำ (ปูรณิมา) 
via ภาษาและวรรณคดีสันสกฤต

ห้ามใช้ต้นตุลสีบูชาพระคเณศ เรื่องแทรก ''ศิวะพระมหาเทพ''

สาเหตุที่ห้ามใช้ต้นตุลสีบูชาพระคเณศ

ในอดีตกาล มีสตรีนามว่าตุลสี ผู้เป็นบุตรีของธรรมราช พระนางเป็นสาวกผู้ภักดีต่อพระวิษณุเป็นอย่างมาก ทุกวันพระนางจะลงไปสรงนำ้ในแม่นำ้คงคา และไปบูชาพระวิษณุที่เทวาลัย วันหนึ่ง ขณะที่พระนางตุลสีกำลังจะไปสรงนำ้ในแม่นำ้คงคา พระนางก็ทรงเห็นพระคเณศทรงกำลังเข้าสมาธิอย่างสง่างามอยู่ พระนางตุลสีจึงทรงไปทูลขอพระคเณศทรงวิวาห์กับพระนาง พระคเณศทรงปฏิเสธอย่างสุภาพว่าพระองค์ไม่ทรงปรารถนาจะวิวาห์ พระนางตุลสีทรงโกรธ จึงได้สาปให้ในอนาคตพระคเณศจะต้องทรงวิวาห์ พระคเณศจึงทรงสาปพระนางกลับ พระคเณศทรงสาปให้ในอนาคตพระนางตุลสีจะต้องวิวาห์กับอสุร เมื่อพระนางทรงรับคำสาปเช่นนี้ พระนางก็สวดสรรเสริญ และอ้อนวอนพระคเณศให้ทรงให้อภัยแก่พระนาง พระคเณศจึงทรงให้พรว่าในอนาคตพระนางตุลสีจะทรงเป็นเลิศในหมู่พืช และเหล่าเทวดาทั้งหลาย โดยเฉพาะพระวิษณุจะทรงโปรดปรานการใช้ตุลสีมาบูชาพระองค์เป็นอย่างยิ่ง แต่ต้นตุลสีจะเป็นต้นไม้ที่ห้ามใช้บูชาพระคเณศ 



ซึ่งต่อมา พระนางตุลสีก็วิวาห์กับอสุรชลันธร โดยพระนางตุลสีนั้นเป็นชายาที่ภักดีต่อสวามี และยังคงเป็นสาวกผู้ภักดีของพระวิษณุดังเดิม เมื่อพระวิษณุทรงแปลงกายเป็นอสุรชลันธรเพื่อหลอกให้พระนางตุลสีทรงเผลอมีสัมพันธ์กับชายอื่นที่ไม่ใช่สวามี จนชลันธรไม่มีอำนาจความดีของพระนางตุลสีคุ้มครอง จึงถูกพระศิวะสังหาร พระนางตุลสีทรงเสียใจเป็นอย่างมากที่ถูกพระผู้เป็นเจ้าที่ตนศรัทธาเป็นอย่างยิ่งหลอกใช้เล่ห์กลจนสวามีของตนต้องถูกสังหาร พระนางตุลสีจึงทรงสาปให้พระวิษณุต้องกลายเป็นหิน หลังจากนั้นพระนางตุลสีก็เสียชีวิตลง พระวิษณุทรงรู้สึกเสียใจเช่นกัน พระองค์จึงทรงให้พรให้พระนางตุลสีจะได้เกิดใหม่เป็นต้นตุลสีที่พระวิษณุและเหล่าเทวดาทั้งหลายทรงโปรดปราน 

แผนผังสายราชวงศ์กุรุในมหากาพย์ "มหาภารตะ"



แผนผังสายราชวงศ์กุรุ

มหาภารตะ เป็น เรื่องราวความขัดแย้ง ของ พี่น้องสองตระกูล ระหว่าง ตระกูลเการพ และตระกูลปาณฑพ ซึ่งทั้งสองตระกูลต่างก็สืบเชื้อสายมาจากท้าวภรต แห่ง กรุงหัสตินาปุระ จนบานปลายไปสู่ มหาสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร ซึ่งมีพันธมิตร ของแต่ละฝ่ายเข้าร่วมรบด้วยเป็นจำนวนมาก กล่าวกันว่านี่คือการต่อสู้ระหว่าง ฝ่ายธรรมะ และฝ่ายอธรรม ความดี และความชั่ว ซึ่งในที่สุดแล้ว ฝ่ายปาณฑพก็เป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้

กุรุ (ปฐมกษัตริย์)


ฝ่ายปาณฑพ


ฝ่ายเการพ




มหากาลีเทวีพิทักษ์โลก Mahakali - Anth Hi Aarambh Hai

มหากาลี เทวีพิทักษ์โลกา ประเภท ดราม่าอิงตำนาน เหนือธรรมชาติ กำกับโดย     Loknath Pandey, Madan Vaishyaal อำนวยการสร้างโดย  ...