วันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

नवरात्री นวราตรี (Navratri) เทศกาลบูชาพระแม่ทุรคา

 नवरात्री นวราตรี (Navratri) เทศกาลบูชาพระแม่ทุรคา

นวราตรี (Navratri, Navaratri, หรือ Navarathri) เป็นเทศกาลแห่งการบูชาและการเต้นรำ ในภาษาสันสกฤตคำว่า นว (nava) หมายถึง เก้า และ ราตรี (ratri) หมายถึง กลางคืน จึงมีความหมายตามตัวอักษรว่า “เก้าคืน” ซึ่งในช่วง “เก้าคืน” นี้จะมีการบูชาพระแม่ทุรคา (Durga) หรือศักติ (Shakti) ซึ่งหมายถึง พลังหรืออำนาจ ในเก้ารูปแบบโดยเทศกาลนี้จะจัดขึ้นสองครั้งต่อปี ในช่วงต้นฤดูร้อน และต้นฤดูหนาว ในช่วงฤดูหนาวนี้ตรงกับเดือนอัศวิน (Ashwin) ตามปฏิทินฮินดู

เทวีทุรคา หรือที่นิยมเรียกว่า พระแม่ทุรคา เป็นเทวีแห่งความมั่งคั่ง ความเจริญรุ่งเรือง และสุขภาพดี พระนางเป็นอวตารภาคหนึ่งของพระแม่ปารวตี มเหสีของพระศิวะ ตามตำนานเทพเจ้าฮินดู กล่าวถึงการปราบ มหิงสาสูร ซึ่งเป็นอสูรที่ทรงอำนาจมากจนไม่มีเทพเจ้าองค์ใดทำลายลงได้ ดังนั้นบรรดาทวยเทพต่างๆ จึงได้ไปเข้าเฝ้าพระนางทุรคาขอให้ทรงช่วย และเทพต่างๆ เหล่านั้น ก็มอบอาวุธที่ทรงอำนาจให้กับพระนาง เมื่อมีอาวุธครบครัน พระนางก็สามารถปราบอสูรร้ายลงได้ และสถานที่ที่มหิงสาสูรสิ้นชีพนั้น เดิมคือเมือง มหิศปุระ (Mahishpur) ปัจจุบันคือ เมืองไมซอร์ (Mysore) ชาวไมซอร์จึงมีการเฉลิมฉลองเทศกาลนี้อย่างยิ่งใหญ่สนุกสนาน
ในหนึ่งปี มีการจัดงานนวราตรีสี่ครั้งด้วยกัน เรียกตามฤดูกาลของอินเดียว่า วสันตะ นวราตรี, อาสาฒะ นวราตรี, ศรัท นวราตรี และเปาษะ/มาฆะ นวราตรี โดยมีรายละเอียดดังนี้ (เนื้อหาอาจแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น)
วสันตนวราตรี จัดเป็นเวลา 9 คืน เพื่ออุทิศแด่ศักติทั้งเก้ารูปของพระแม่ ในเดือนไจตระ (ตกอยู่ระหว่างมีนาคม-เมษายน) และเริ่มงานในคืนข้างขึ้น การเริ่มต้นของนวราตรีถือเป็นการเริ่มปีใหม่ของปฏิทินจันทรคติของฮินดู 

อาสาฒนวราตรี หรือคุปตนวราตรี หรือ คายตรี หรือ ศกัมพรีนวราตรี เรียกได้หลายชื่อ จัดขึ้นในเดือนอาสาฒ (บาลีว่า อาสาฬหะ) ผู้ร่วมพิธีบูชาส่วนใหญ่จะเป็นผู้ศรัทธาในลัทธิศักติ จัดงานในช่วงที่เรามีวันอาสาฬหบูชานั่นเอง

ศรัทนวราตรี นับว่ามีความสำคัญที่สุดในบรรดานวราตรีทั้งสี่ เรียกสั้นๆ ว่า มหานวราตรี คือ เป็นงานใหญ่ จัดขึ้นในเดือนอัศวิน อยู่ในช่วง กันยายน-ตุลาคม 

เปาษ หรือมาฆนวราตรี บ้างก็เรียก ศกัมพรีนวราตรี งานนี้จัดแปดวัน อยู่ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ไม่ได้เริ่มที่วันขึ้นหนึ่งค่ำ แต่เริ่มที่วันขึ้นแปดค่ำ(อัษฏมี) แล้วจบที่วันสิบห้าค่ำ (ปูรณิมา) 
via ภาษาและวรรณคดีสันสกฤต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มหากาลีเทวีพิทักษ์โลก Mahakali - Anth Hi Aarambh Hai

มหากาลี เทวีพิทักษ์โลกา ประเภท ดราม่าอิงตำนาน เหนือธรรมชาติ กำกับโดย     Loknath Pandey, Madan Vaishyaal อำนวยการสร้างโดย  ...